ถ่านหิน
ถ่านหิน(coal) เป็นส่วนประกอบคาร์บอน ซึ่งเกิดจากการสะสมตัวของซากพืชตามธรรมชาติ เมื่อมีปฏิกิริยาทางชีววิทยา ทางเคมี และภายใต้ความกดดันสูง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสารประกอบคาร์บอน การแบ่งชนิดและคุณภาพของถ่านหิน โดยทั่วไปขึ้นอยู่กับปริมาณคาร์บอน ค่าความร้อนเมื่อเผาและลำดับการแปรสภาพ ดังนั้น จึงพอที่จะจำแนกชนิดของถ่านหินได้ ดังนี้พีต (peat) เป็นลำดับเริ่มต้นของกระบวนการเกิดถ่านหินเกิดจากการที่ซากพืชจำพวกตะไคร่ มอสส์และพืชอื่นๆ ที่ยังไม่แข็งตัวสะสมในลุ่มสนุ่นหรือที่ลุ่มชื้นแฉะ ภายหลังถูกแบคทีเรียและเชื้อราแปรสภาพเป็นอินทรียวัตถุและก๊าซมีเทน มีคาร์บอนประกอบอยู่ประมาณร้อยละ 60 ออกซิเจนประมาณร้อยละ 30 มีความชื้นสูง แต่เมื่อแห้งจะติดไฟดี
ลิกไนต์ (lignite) เป็นถ่านหินที่มีคุณภาพต่ำ สีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ เนื้อแข็ง มีความชื้นต่ำ ไม่ค่อยมีโครงสร้างของพืชเหลืออยู่ มีคาร์บอนประกอบร้อยละ 55 – 65 เมื่อเผาจะให้ค่าความร้อนน้อยกว่า 8,300 บีทียูต่อปอนด์ แหล่งที่มีการผลิต เช่น ที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เหมืองที่ตำบลคลองขนาน อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
ถ่านหินซับบิทูมินัส (sub-bituminous coal) เป็นถ่านหินที่มีลำดับการแปรสภาพสูงกว่าลิกไนต์แต่ต่ำกว่าชนิดบิทูมินัส มีคาร์บอนประกอบร้อยละ 65 – 80 มีความชื้นต่ำกว่า เมื่อเผาจะให้ค่าความร้อนระหว่าง 8,300 – 13,000 บีทียูต่อปอนด์ แหล่งที่มีการผลิต เช่น แหล่งที่ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ที่ตำบลลี้และตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
ถ่านหินบิทูมินัส (bituminous coal) เป็นถ่านหินที่มีลำดับการแปรสภาพสูงกว่าชนิดซับบิทูมินัส สีน้ำตาลถึงดำ มีคาร์บอนประกอบร้อยละ 80 – 90 มีความชื้นต่ำ แต่มีสารระเหิด (volatile matter) ประกอบอยู่ด้วย ทำให้เมื่อเผาจะให้ควันมาก แต่จะให้ค่าความร้อนสูง คือ ตั้งแต่ 10,500 บีทียูต่อปอนด์ขึ้นไป แหล่งที่มีการผลิต เช่น ที่ตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และที่ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
แอนทราไซต์ (antracite) เป็นถ่านหินชนิดที่มีการแปรสภาพสูงที่สุด สีดำ เนื้อแข็ง มีความวาวแบบกึ่งโลหะ มักแตกแบบก้นหอย ประกอบด้วยคาร์บอนตั้งแต่ร้อยละ 86 ขึ้นไป ติดไฟยาก เมื่อไหม้ให้เปลวไฟสีน้ำเงิน ไม่มีควัน ให้ค่าความร้อนสูงที่สุดในบรรดาถ่านหินทั้งหมดถึง 15,500 บีทียูต่อปอนด์ แหล่งที่มีการผลิต คือ ที่ตำบลนาด้วง กิ่งอำเภอนาด้วง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นชนิดเซมิแอนทราไซต์
ประโยชน์ของถ่านหินที่สำคัญที่สุด คือ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้แทนถ่านไม้ ไม้ฟืน และน้ำในเพื่อให้พลังงานและความร้อน เช่น ในโรงงานไฟฟ้าลิกไนต์ที่จังหวัดกระบี่ และที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการบ่มใบยา ใช้ทำถ่านอัด เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม และอุตสาหกรรมต่างๆใช้ทำแก๊ส นอกจากนี้ ยังใช้ในการทำปุ๋ยชนิดแอมโมเนียมซัลเฟตและปุ๋ยยูเรีย ใช้ทำ activated carbon สำหรับใช้ในการฟอกสี กำจัดกลิ่น และกรองสารต่างๆ ใช้ในการผลิตแคลเซียมคาร์ไบด์ ใช้ทำซีเมนต์สำเร็จรูปชนิดน้ำหนักเบา ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ การผลิตปูนขาว โรงงานย้อมผ้าและโรงงานผงชูรส
แหล่งแร่ถ่านหินในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นถ่านหินชนิดลิกไนต์ และลิกไนต์ถึงซับบิทูมินัส แหล่งสำคัญที่ได้เปิดการทำเหมืองแล้ว ได้แก่ เหมืองที่แม่เมาะ แม่ทาน และแม่ตื่น จังหวัดลำปาง ที่ลี้ จังหวัดลำพูน ที่แม่แจ่มและแม่ตื่น จังหวัดเชียงใหม่ ที่แม่ละเมา จังหวัดตาก ที่นาด้วง จังหวัดเลย (เป็นเหมืองแอนทราไซต์) ที่นากลาง จังหวัดอุดรธานี ที่หนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ที่กันตัง จังหวัดตรัง และที่จังหวัดกระบี่
นอกจากนี้แหล่งที่มีการผลิตดังกล่าวข้างต้นนี้แล้ว กรมทรัพยากรธรณียังได้ทำการสำรวจพบหล่งถ่านหินที่มีคุณค่าเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 20 แอ่ง ดังนี้ แอ่งเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ แอ่งเชียงม่วย จังหวัดพะเยา แอ่งงาว แอ่งเมืองปาน แอ่งวังเหนือ แอ่งห้างฉัตร แอ่งเสริมงาม และแอ่งแม่ทะ จังหวัดลำปาง แอ่งจังหวัดแพร่ แอ่งแม่ละเมาะ แอ่งแม่ระมาด และแอ่งอุ้มผาง จังหวัดตาก แอ่งปะละทะ แอ่งหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี แอ่งหนองพลับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แอ่งเคียนซาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แอ่งสินปุน จังหวัดนครศรีธรรมราช แอ่งกันตัง จังหวัดตรัง และแอ่งสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น